ขับเคลื่อนโดย Blogger.
RSS

ภูชี้ฟ้า



ภูชี้ฟ้า


 เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ก็เหมือนเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการหลั่งไหลของผู้คนสู่ตอนบนของประเทศ  สถานที่ท่องเที่ยวตามดอยและอุทยานต่างๆ ดูจะเย้ายวนเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวมากที่สุด ดังนั้น วันนี้เลยขอเอาใจนักชอบเที่ยวทั้งหลาย พาไปท่องเที่ยวที่ "ภูชี้ฟ้า" รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้าน่ะชนะเลิศ ทั้งบรรยากาศและธรรมชาติที่สวยงามจับใจ



          ภูชี้ฟ้า เป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาดอยผาหม่น  ติดชายแดนไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในพื้นที่เขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติด้วยลักษณะหน้าผาปลายยอดแหลม เป็นแนวยาวที่ชี้ไปบนฟ้า ทางฝั่งประเทศลาว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "ภูชี้ฟ้า" นั่นเอง ด้านที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นับเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้จัดตั้ง "ภูชี้ฟ้า" เป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ด้วยเนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ถึง 1,628 เมตร
สำหรับไฮไลท์สำคัญของภูชี้ฟ้า ต้องยกให้จุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม อีกทั้งทิวทัศน์ของภูเขาสลับซับซ้อนดูกว้างไกล โดยในตอนเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมในหุบเขาเบื้องล่าง มีพระอาทิตย์ขึ้นผ่านพ้นทะเลหมอก ท่ามกลางทุ่งหญ้า แซมด้วยทุ่งดอกโคลงเคลง (ในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว) สวยงามราวกับภาพวาด   และหากรอจนสายหมอกถูกความร้อนระเหยหมดแล้ว ก็ยังคงมองเห็นสายน้ำโขงไหลคดเคี้ยว ท่ามกลางป่าไม้ของฝั่งลาวที่เขียวสุดสมบูรณ์อีกด้วย  หากมาเที่ยวภูชี้ฟ้า ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม เส้นทางขึ้นภูชี้ฟ้าจะผ่านป่าซากุระหรือต้นพญาเสือโคร่งสีชมพูสวยงามมากอีกเช่นกัน
แต่ถ้าหากว่าใครคิดจะไปยลโฉมทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้าล่ะก็ ขอบอกว่าต้องขยันหน่อยนะจ๊ะ เพราะที่พักจะตั้งอยู่บริเวณเชิงภู ซึ่งห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ดังนั้น จึงควรขึ้นไปยอดภูตั้งแต่ฟ้ายังมืด ประมาณตีห้า น่าจะกำลังเหมาะ เพราะเมื่อฟ้าเริ่มสว่างจะทำให้เห็นสายหมอกค่อยๆ ก่อตัวเป็นภาพต่างๆ ดูสวยงามราวกับมีช่างวาดฝีมือมาแต่งแต้ม สร้างความประทับใจมิรู้ลืม



          นอกจากนี้เสน่ห์ของ "ภูชี้ฟ้า" ยังคงมีบรรยากาศเมืองเหนือเหมือนอุทยานและดอยอื่นๆ มีหมู่บ้านชาวเขา บริเวณตีน ภูชี้ฟ้า เป็นบรรยากาศของการท่องเที่ยว มีที่พักขนาดเล็กๆ หลายแห่งให้เลือกใช้บริการ ดำเนินงานโดยชาวเขาบ้างชาวเราบ้างและที่บริเวณบ้านเช็งเม้งก่อนขึ้นสู่ตีนภูชี้ฟ้า เป็นหมู่บ้านชาวม้ง หากมาเยือนภูชี้ฟ้า ในช่วงปีใหม่ยังจะได้ชมงานปีใหม่ ที่ชาวม้งจะแต่งตัวม้งครบถ้วนทั้งหญิงและชาย จุดเด่นของงาน คือ การโยนลูกช่วงหรือลูกหินระหว่างหนุ่ม – สาว

สำหรับภูมิอากาศบนภูเขา จะค่อนข้างเย็นแต่ฤดูกาลจะเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

          อย่างไรก็ตาม "ภูชี้ฟ้า" เป็นดอยเดียวที่ชื่อว่า "ภู" ทั้งที่ตามจริงแล้วจะต้องชื่อว่า "ดอยชี้ฟ้า" ตามคำเรียกของทางเหนือ แต่ว่า ภูชี้ฟ้า เป็นชื่อที่คนต่างถิ่นไปตั้งชื่อ จึงเรียกว่า "ภู"  ในสมัยก่อนพื้นที่ของ ภูชี้ฟ้า เป็นแดนผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีการต่อสู้ทางอาวุธและแนวความคิดที่รุนแรงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ครั้นเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายไป เริ่มมีผู้คนเดินทางมาชมธรรมชาติที่นี่ และแล้วชื่อเสียงของภูชี้ฟ้าก็ขจรขจายไปอย่างรวดเร็ว
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง


         
ดอยผาตั้ง อยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าไปประมาณ 24 กิโลเมตร ในเขตบ้านผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น เมื่อชมทะเลหมอกยามเช้าที่ ภูชี้ฟ้า แล้ว ช่วงบ่ายจึงเหมาะที่จะไปเที่ยว ดอยผาตั้ง สิ่งที่น่าดูของ ดอยผาตั้ง คือ ทิวทัศน์ที่มองเห็นแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนไทย-ลาว ทิวทัศน์สุดสายตากับป่าเขียวๆ บริเวณทางขึ้นสู่ผาตั้งยังมีผาบ่องลักษณะเป็นช่องหินขนาดใหญ่ ขนาดคนเดินผ่านได้ มองเห็นทิวทัศน์ของลาวได้สวยงามเช่นกัน

          การเดินทางไปยังดอยผาตั้ง สามารถใช้เส้นทางหลวงจังหวัดสาย 1093  และจากดอยผาตั้งยังสามารถเดินทางต่อไปยังอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายได้อีกด้วยค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ

           ผู้ใหญ่ คนละ 20-80 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)

           เด็ก คนละ 10-40 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)

           กรณีเป็นเด็กอายุต้องต่ำกว่า 14 ปี แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ปี จักไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม

           กรณีเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสำหรับเด็ก





http://hilight.kapook.com/view/32314

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น